ขายสินค้าออนไลน์ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้หรือไม่

ปัจจุบันช่องทางในการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ มีมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการขายผ่าน Line, Facebook, Instargram ที่เพียงมีบัญชีและสินค้าก็สามารถเปิดการขายออนไลน์ได้แล้ว
ปัจจุบันการขายผ่านผู้ให้บริการ Market place อย่างเช่น Shoppee หรือ Lazada ก็เป็นที่นิยม เนื่องจากให้บริการตั้งแต่โฆษณา วางระบบการขาย จ่ายชำระ จัดส่งสินค้า และรายงานยอดขายต่างๆให้ทราบได้ทันที จากข้อมูลการซื้อและสถิติต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้วางแผนการตลาดได้
และเมื่อธุรกิจมีการซื้อ การขายเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขายปกติผ่านหน้าร้าน หรือการขายผ่านทางออนไลน์ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการออกใบเสร็จรับเงิน และการออกใบกำกับภาษี ที่ติดตามมา ส่วนของใบเสร็จรับเงินนั้นอาจดูไม่ยุ่งยากเท่าไหร่ แต่การออกใบกำกับภาษีเต็มรูปนั้นกฏหมายกำหนดว่าต้องแสดงชื่อ – สกุล ที่อยู่อาศัย และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอย่างชัดเจน
นั้นเป็นปัญหาหนึ่งที่ร้านค้าออนไลน์ต้องเจอ เพราะลูกค้ามักจะไม่ค่อยให้ข้อมูลเพื่อให้นำไปออกใบกำกับภาษี ไม่ว่าจะเป็นชื่อ – สกุล ที่อยู่ นอกเสียจากลูกค้าจะต้องการจริงๆ กิจการส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะออก “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ” ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ยังสงสัย และยังมีความกังวลใจในการจัดทำ ดังนั้นเราจึงนำมาแยกย่อยเพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์สามารถเข้าใจและจัดทำได้อย่างถูกต้องตามที่สรรพากรกำหนด

ใบกำกับภาษีอย่างย่อคืออะไร?

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ คือ เอกสารที่ร้านค้ากิจการประเภท “ค้าปลีก” ที่ขายสินค้าและบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่มต้องออกให้กับลูกค้าทุกครั้งที่มีการซื้อสินค้าหรือบริการ เพื่อเอาไว้เป็นหลักฐานแสดงมูลค้าสินค้า และบริการนั้น ๆ ในแต่ละครั้ง ซึ่งถ้าเป็นร้านค้าออนไลน์ในนามบุคคลธรรมดา จะต้องมีรายได้ เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จึงจะสามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้

ร้านค้าออนไลน์สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้หรือไม่ ?

ร้านค้าออนไลน์สามารถออกใบกำกับภาษีแบบย่อได้เช่นกันค่ะ เพราะว่าเป็นการขายปลีกให้ลูกค้าจำนวนมากเพื่อนำไปใช้สอยเอง

แต่ว่าจะมีข้อกำหนดประเภทประเภทธุรกิจร้านค้าที่สรรพากรได้ออกเอาไว้ดังนี้

  • กิจการร้านค้าที่ขายในลักษณะขายปลีก
  • การขายปลีก จะต้องเป็นการขายแก่ผู้บริโภคตรง เพื่อนำไปใช้เองโดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะนำไปขายต่ออีกทอดนึง เช่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ร้านขายของชำ ร้านขายยา เป็นต้น
  • กิจการที่ให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น ร้านอาหาร โรงแรม เป็นต้น


โดยรายละเอียดที่ต้องแสดงในใบกำกับภาษีอย่างย่อมีดังนี้

  1. ชื่อ หรือชื่อย่อ และเลข 13 หลักของผู้ออกใบกำกับ
  2. คำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ”
  3. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี
  4. ชื่อ ชนิด ประเภทสินค้า และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ (ออกเป็นรหัสได้)
  5. 5. วันที่ออกใบกำกับภาษี
  6. ข้อความที่ระบุในใบกำกับภาษีอย่างย่อว่ารวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว (VAT Included)
  7. ข้อความอื่น ๆ ที่สรรพากรกำหนด


ข้อยกเว้น และข้อกำหนดอื่นเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ

  1. ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ไม่จำเป็นต้องแสดงชื่อ – สกุล ที่อยู่อาศัย เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าและบริการ
  2. ชื่อ ชนิด และประเภทของสินค้าสามารถแสดงเป็นรหัสสินค้าได้
  3. มีข้อความแสดงอย่างชัดเจนว่าราคาสินค้าหรือบริการนั้น ๆ มีการรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Included) ไว้แล้ว
  4. ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ไม่สามารถนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อส่ง ภ.พ. 30 ได้

ตัวอย่างจัดทำเองตามแบบสรรพากร

ส่วนการจะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องทำการยื่นคำขอใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินต่ออธิบดีกรมสรรพากร ผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ด้วยจึงจาสามารถทำการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้

สรุป…กิจการสามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้โดยไม่ต้องแจ้งกรมสรรพากร ตามรายละเอียดที่ได้ให้มาข้างต้น ยกเว้นการใช้เครื่องบันทึกในการช่วยออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ
จะเห็นได้ว่าการออกใบกำกับภาษีไม่ว่าจะอย่างย่อ หรือเต็มรูปแบบเราจำเป็นต้องเข้าใจกฎเกณฑ์และรายละเอียดพอสมควร แต่หากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ทำความเข้าใจแล้ว ก็จะไม่ใช่เรื่องยากในการจัดทำอีกต่อไป…