นักบัญชียุค Digital
“ ทุกวันนี้ ไม่มีอาชีพไหนเลยที่ไม่โดน Disruption โดยเทคโนโลยี เพราะแม้กระทั่งวิชาชีพ นักบัญชี ซึ่ง จากเดิมมีหน้าที่หลักคือ ทำบัญชี รายรับ-รายจ่ายของหน่วยงานเป็นหลักเท่านั้น แต่ในยุคที่เทคโนโลยีเป็นใหญ่ คนทำงานด้านนี้จะมีแค่ทักษะการทำบัญชีคงไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว พวกเขาต้องเพรียบพร้อมไปด้วยทักษะการใช้ซอฟต์แวร์ รู้จักเทคโนโลยีบล็อกเชน ทั้งยังต้องทำหน้าที่เป็นดั่ง เพื่อนคู่คิด ของผู้ประกอบการ จึงต้องเป็นผู้ที่สามารถคิดวิเคราะห์ จัดการข้อมูล เข้าใจธุรกิจและตลาด ถึงจะได้ชื่อว่าเป็น นักบัญชียุคใหม่ ที่ทุกองค์กรปรารถนา ”
ทุกวันนี้โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคธุรกิจ ภาคธุรกิจจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี Digital Transformation จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดได้
Digital Transformation คือ การเปลี่ยนแปลงแนวคิดและนำเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัลมาปรับใช้ในองค์กรธุรกิจ เริ่มตั้งแต่การวางรากฐาน เป้าหมาย การดำเนินธุรกิจ และการส่งมอบคุณค่าให้แก่ลูกค้า รวมถึงขั้นตอนการทำงานและวัฒนธรรมขององค์กร โดยตั้งแต่พนักงานระดับปฏิบัติการจนถึงผู้บริหารระดับสูงควรมีส่วนร่วมในการปรับตัวไปกับองค์กรด้วยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและเพื่อป้องกันการเกิด Digital Disruption
การเตรียมรับมือความท้าทายเหล่านี้จึงจำเป็นที่นักบัญชี ต้องไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาตัวเอง ต้องหาวิธีการใหม่ๆ ในการจัดการ การวิเคราะห์ และดึงคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในข้อมูลออกมาให้ได้ จะนำมาซึ่งการหาคำตอบและทองออกที่ตอบโจทย์ของธรุกิจ
ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีมากมายที่ถูกสร้างขึ้นมา จะเนื่องด้วย Digital Disruption หรือภาวะโควิค-19 ทำให้ธุรกิจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักบัญชีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เทคโนโลยีที่มีบทบาทต่อการทำงานของนักบัญชี ได้แก่
1. Advance Data Analytics
คือ การวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็น Big Data ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ มีจำนวนมากมายมหาศาล(Volume), ข้อมูลมีความหลากหลายและซับซ้อน (Variety), ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา (Velocity), ข้อมูลมาจากแหล่งข้อมูลคนละที่หรือคนละชนิด แต่มีการจัดระเบียบหรือวิเคราะห์ข้อมูลทำให้ข้อมูลมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ (Veracity) และข้อมูลมีความซับซ้อนสูงจึงต้องมีกระบวนการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกันเพื่อการวิเคราะห์และประมวลผล (Complexity) โดยนักบัญชีจะนำข้อมูลมาประมวลผลและวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอต่อผู้บริหารให้นำไปใช้ในการวางแผนตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ
ปัจจุบันในวงการบัญชีมีการวิเคราะห์ข้อมูล Big Data (Big Data Analytics) ได้แก่
- ในองค์กรขนาดใหญ่เริ่มมีการทำ Big Data Analytics โดยกระบวนการจัดทำมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องด้วยกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ Data Engineer, Data Scientist และ Data Analyst โดยนักบัญชีจะมีบทบาทเป็น Data Analyst ในเชิงบัญชีบริหาร
- ธุรกิจที่ปรึกษาทางด้านสอบบัญชีรายใหญ่ระดับโลก 4 ราย (Big Four) ได้ใช้ Big Data Analytics ในการสอบบัญชี โดยวิธีการ Sampling Audit (การสุ่มตัวอย่าง) เป็น 100%
- กรมสรรพากรมีการลงนามร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ผู้เสียภาษี สร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษี เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่และวิเคราะห์ข้อมูลด้านภาษี เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลและเป็นการร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรของกรมสรรพากรด้าน Data Science ให้มีความรู้ความสามารถที่สอดคล้องกับทักษะในอนาคต
2. RPA (Robotic Process Automation)
คือ โปรแกรมออกแบบการสร้างหุ่นยนต์ (Robot) โดยเป็นการเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ ให้ทำงานตามรูปแบบที่กำหนดสำหรับงานที่มีจำนวนมาก เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการทำ Transaction Process ซึ่งมีลักษณะทำซ้ำๆ และไม่มีความซับซ้อน เป็นงานที่มีข้อกำหนดตายตัวตามข้อมูลที่มนุษย์ป้อนให้ มีเงื่อนไขการตัดสินใจที่เป็นแบบแผน รวมทั้งงานประเภทที่มักเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย เป็นระบบที่สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น การทำงบพิสูจน์ยอดเงินฝากธนาคาร การบันทึกใบแจ้งหนี้ (Invoice Processing) เป็นต้น ประโยชน์ของRPA ได้แก่
- ช่วยลดปริมาณงานที่ต้องทำซ้ำ งานเสร็จเร็วขึ้น
- ลดความผิดพลาดของงานที่เกิดจาก human error
- ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน
- สร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า
3. ระบบ Cloud และการใช้ Software as a Service (SaaS)
Cloud เป็นหน่วยพื้นที่จัดเก็บข้อมูลดิจิทัล โดยผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลจากอุปกรณ์ใดๆ ก็ได้ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
การประมวลผลระบบ Cloud แบ่งออกได้เป็น 3 ฟังก์ชันหลัก ได้แก่
IaaS เป็นการให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน หมายถึง ผู้ให้บริการ Cloud ที่มีพื้นที่เซิร์ฟเวอร์ให้ตั้งแต่พื้นที่จัดเก็บข้อมูลไปจนถึงการโฮสต์เว็บ โดยผู้ใช้สามารถจัดการและบำรุงรักษาข้อมูลเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันได้ ถึงแม้ผู้ใช้จะเช่าเพียงแค่ทรัพยากรประมวลผลเท่านั้น ตัวอย่างของ IaaS เช่น Dropbox ที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึง แก้ไขและเพิ่มข้อมูลได้ตามที่ต้องการ, Netflix ใช้โมเดล IaaS ในการจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลจากลูกค้าทั่วโลกที่เข้าถึงเป็นประจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
PaaS เป็นการบริการด้านแพลตฟอร์ม ที่เพิ่มการควบคุมมากขึ้นสำหรับผู้ให้บริการคลาวด์ PaaS ให้บริการแพลตฟอร์มเสมือนสำหรับการพัฒนาและการทดสอบแบ็กเอนด์ โดยให้กรอบการทำงานเสมือนโปรแกรมเมอร์ที่สามารถใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ออนไลน์ได้ โดยที่เซิร์ฟเวอร์และพื้นที่จัดเก็บข้อมูลทั้งหมดยังคงจัดการโดยผู้ให้บริการอยู่
SaaS หมายถึง ซอฟต์แวร์ใดก็ตามที่ทำงานผ่านคลาวด์ เช่น Dropbox Paper เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสร้าง แก้ไข แชร์ และทำงานร่วมกันในไฟล์ข้อความทางออนไลน์ได้ โดยผู้ให้บริการเป็นผู้ดูแลระบบ โดยผู้ใช้สามารถเข้าถึงแอปพลิเคชันได้ตามต้องการและทำงานกับไฟล์จากอุปกรณ์ใดก็ได้
ประโยชน์ของคลาวด์ ได้แก่
- ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์ รวมทั้งการจ้างพนักงานด้านไอที
- การสำรองข้อมูลไว้บนระบบคลาวด์ช่วยลดความเสี่ยงในการสำรองไฟล์และการเก็บข้อมูลไว้เพียงที่เดียว
- มีความปลอดภัยของข้อมูลในการเข้าสู่ระบบ โดยใช้ password และผู้ใช้สามารถตั้งค่าความปลอดภัยบนคลาวด์เองได้
4. AI (Artificial Intelligence)
AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกพัฒนาให้มีความสามารถคิด วิเคราะห์ วางแผนและตัดสินใจได้รวมทั้งการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่และประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นได้ อาชีพที่มีรูปแบบการทำงานที่ชัดเจนหรือมีรูปแบบการทำงานที่เป็นมาตรฐานมีโอกาสถูก AI เข้าไปแทนที่ได้ อย่างงานบัญชีที่มีลักษณะการทำซ้ำเดิมๆ AI มีประโยชน์ต่อภาคธุรกิจดังนี้
- ใช้วิเคราะห์ข้อมูลที่มีความซับซ้อนและมีจำนวนมากได้อย่างแม่นยำ
AI สามารถประมวลผลข้อมูลด้วยความถูกต้องแม่นยำและนำเสนอได้ภายในเวลาที่จำกัด ตัวอย่างเช่น การค้นหาข้อมูลโดยใส่คีย์เวิร์ดใน Google ซึ่งใช้ AI ในการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้คำค้นหาหรือคีย์เวิร์ดทำให้ได้ข้อมูลที่ต้องการค้นหา หรือด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ปัจจุบันมีมัลแวร์ (ซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตราย) เกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ระบบ AI ช่วยในการตรวจสอบติดตามแยกแยะได้ว่าไฟล์ไหนเป็นมัลแวร์คุกคาม
- ใช้ในการประเมินพฤติกรรมผู้บริโภค
AI ช่วยประเมินผลพฤติกรรมผู้บริโภคจากประวิติการสั่งซื้อ โดยสามารถนำข้อมูลมาใช้ได้อย่างถูกต้องเพื่อให้ขายสินค้าได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้ AI ยังช่วยสร้างแบรนด์ด้วยภาพลักษณ์ที่ทันสมัย ตั้งแต่การสร้างเว็บไซต์ หรือการช่วยทำ SEO ที่ตอบโจทย์ในการค้นหาของลูกค้ารวมทั้งเชื่อมโยงเนื้อหาที่ดึงดูดผู้อ่าน ไปจนถึงการโปรโมทสินค้าและทำโฆษณา
- ช่วยผู้ประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลในการตัดสินใจ
AI ช่วยประมวลผลข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์และตัดสินใจสำหรับเจ้าของธุรกิจให้ได้ทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุดและใช้เวลาน้อยที่สุด ในการตัดสินใจจากข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาล ปราศจากอารมณ์ ความคิดเห็นหรือความสัมพันธ์ส่วนตัวซึ่งต่างจากการตัดสินใจของมนุษย์
แน่นอนว่าเมื่อนักบัญชีถูกคาดหวังให้รับบทบาทที่กว้างขึ้น นักบัญชีก็จำเป็นต้องพัฒนาทักษะ
4 ทักษะสำคัญของนักบัญชีในยุคดิจิทัล
1. ทักษะทางด้านธุรกิจ (Business Skill)
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนักบัญชีมีหน้าที่จัดเตรียมข้อมูล วิเคราะห์ นำเสนอข้อมูลและจัดทำรายงานเพื่อการตัดสินใจของผู้บริหาร เพื่อตอบรับกับ Digital Transformation นักบัญชีควรพัฒนาทักษะทางด้านธุรกิจดังนี้
1.1 ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ (Data Analytical Skill)
นักบัญชีควรมีความเข้าใจขอบเขตและการดำเนินการทางธุรกิจที่ทำบัญชีอย่างถ่องแท้ ควรติดตามความรู้ ข่าวสาร ข้อมูลในทางธุรกิจ พัฒนาทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ การวิเคราะห์ความเสี่ยง การคิดในเชิงกลยุทธ์เพื่อปรับบทบาทไปสู่การเป็น Business Partner ให้กับผู้บริหารในยุคดิจิทัล นักบัญชีควรพัฒนาทักษะการวิเคราะห์แบบ Business Insight ทำความเข้าใจธุรกิจในหลากหลายมิติและมองไปข้างหน้า (Forward-looking) สามารถระบุประเด็นสำคัญ ตั้งคำถาม ออกแบบและเสนอรูปแบบการวิเคราะห์ที่หลากหลาย ช่วยผู้บริหารวางแผนกลยุทธ์ เพื่อการวิเคราะห์และตัดสินใจ
1.2 ทักษะในการจัดการ (Administrative Skill)
นักบัญชีต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการทีมงาน การเจรจาต่อรอง ความสามารถทำงานร่วมกันกับ Business Function อื่นๆ ในองค์กร ได้แก่ หน่วยงานขาย จัดซื้อ ทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น โดยสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกระบวนการทำงาน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อสร้างข้อมูลแบบเชิงลึก (Insight) ที่เสนอแนวทางการแก้ปัญหา (Solution) ที่เหมาะสม ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนองคาพยพของทั้งองค์กรไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
2. ทักษะทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Skill)
เพื่อเตรียมเข้าสู่ยุคดิจิทัล นักบัญชีต้องเปิดใจและมอง Digital Transformation เป็นโอกาสแทนที่จะมองเป็นวิกฤตโดยนักบัญชีควรพัฒนาทักษะทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวข้องได้แก่
2.1 Data Mining คือ การวิเคราะห์แยกแยะและหาความสัมพันธ์ของข้อมูล Big Data
2.2 Data Visualization คือ การสรุปและแสดงข้อมูลในรูปแผนภาพ กราฟ แผนภูมิหรือวิดีโอ ซึ่งจะช่วยให้เห็นข้อมูลเชิงลึกและแสดงแนวโน้มในอนาคต เครื่องมือที่เป็น Data Visualization ได้แก่ Power BI, Tableau, Google Data Studio เป็นต้น
2.3 Data Modelling คือ การสร้างแบบจำลองข้อมูล หรือแนวคิดที่ใช้อธิบายโครงสร้าง ความสัมพันธ์และความหมายของข้อมูลเพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าใจง่ายขึ้น
3.ทักษะความรู้ความชำนาญทางด้านวิชาชีพ (Professional Skill)
การเกิด Digital Disruption ทำให้นักบัญชีต้องพัฒนาให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพให้มีความเป็นมืออาชีพ ทั้งทักษะทางด้านสติปัญญา (Intellectual Skill) และทักษะทางด้านเทคนิคทั่วไปและเทคนิคเฉพาะทางด้านวิชาชีพ (Technical Skill) นักบัญชีต้องติดตามความรู้อย่างสม่ำเสมอสำหรับมาตรฐานบัญชีและกฎหมายภาษีที่มีการอัปเดตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็น Lifelong learning ที่ต้องพัฒนาและรักษามาตรฐานของวิชาชีพ
4. ทักษะทางด้านอารมณ์การสื่อสาร (Soft Skill)
นอกเหนือไปจากทักษะความรู้ที่ใช้ในการทำงานหรือที่เรียกว่า Hard Skill แล้ว นักบัญชีควรมี Soft Skill ซึ่งเป็นทักษะทางด้านอารมณ์ ความสามารถในการประสานงานและการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีการพัฒนาตนเอง ซึ่งมีความสำคัญในการทำงานเป็นทีมและทำงานกับเพื่อนร่วมงานต่างสาขาอาชีพ
ในโลกธุรกิจวันนี้ คงไม่มีใครสามารถต้านทานคลื่นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีนี้ได้อีกแล้ว มีการคาดการณ์ว่าผลกระทบของหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์จะมากขึ้นอย่างน่าตกใจในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
“ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการไม่หยุดพัฒนาตัวเอง และคอยเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ จะทำให้เราอยู่ในยุคดิจิทัลได้อย่างสบายแน่นอน! “
.
ข้อมูลบทความรูปภาพจาก