Management Accounting for Planning ,Controlling & Decision Making EP.2
การบัญชีเพื่อการบริหาร การวางแผน การควบคุม
และการตัดสินใจ EP.2
ยินดีต้อนรับสู่บทความในส่วนที่ 2 ของการบัญชีเพื่อการบริหาร จากบทความที่แล้วเราได้ทราบถึงความหมาย และความแตกต่างระหว่าง บัญชีการเงินกับการบัญชีเพื่อการจัดการ มาแล้วนั้น
ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงสามสิ่งที่การบัญชีเพื่อการบริหาร จะสามารถช่วยเหลือผู้บริหารในการบริหารจัดการ ซึ่งคือสิ่งที่เป็นพื้นฐานของบทบาทผู้บริหาร ได้แก่ การวางแผน(Planning) การควบคุม(Controlling) และ การตัดสินใจ(Decision Making)
จากบทบาทพื้นฐานที่กล่าวมานั้น ฝ่ายบัญชีจึงต้องจัดเตรียมข้อมูลที่สามารถนำมาใช้เพื่อการจัดการทั้งสามส่วนคือ การวางแผน การควบคุม และการตัดสินใจ
การวางแผนคืออะไร?
การวางแผน(Planning) คือ การกำหนดแนวทางการดําเนินงานในอนาคตของกิจการ จะต้องใช้ข้อมูลทางการบัญชีหลายประเภท เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าขายสินค้า ค่าใช้จ่ายในการดําเนินงาน ในการทำ “งบประมาณ” เพื่อกำหนดแผนงานการดำเนินกิจกรรมและการใช้ทรัพยากรของกิจการในอนาคต
การควบคุมคืออะไร?
การควบคุม (Controlling)คือ กระบวนการวัดและประเมินผลหรือประสิทธิภาพของการดำเนินงานเพื่อควบคุมและรักษากิจกรรมของกิจการให้เป็นไปตามแนวทางที่ได้วางแผนหรือกำหนดไว้นั้น จะต้องใช้ข้อมูลทางการบัญชีที่เกิดขึ้นจริงของกิจการมาจัดทำรายงานผลการดําเนินงาน เพื่อนํามาเปรียบเทียบกับข้อมูลประมาณการในแผนงานหรืองบประมาณที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
การตัดสินใจคืออะไร?
การตัดสินใจ (Decision Making)คือ การวิเคราะห์และประเมินทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อทำให้กิจการดำเนินกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ได้วางแผนไว้ จะพบว่าข้อมูลทางการบัญชี เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุน
(Cost) และผลตอบแทน (Benefits) จะถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์และประเมินทางเลือก เพื่อให้ผู้บริหารสามารถทำการตัดสินใจเลือกทางที่เหมาะสมที่สุด นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
อย่างไรก็ดีจะเห็นได้ว่ากระบวนการตัดสินใจจะเข้าไปมีส่วนในทุกขั้นตอน ขึ้นอยู่กับผู้บริหารจะตัดสินใจกำหนดการปฏิบัติงานในแต่ละช่วงเวลาหรือแต่ละขั้นตอนอย่างไร
โดยกระบวนการจะเริ่มจากการวางแผน ซึ่งการวางแผนที่ดีจะเกี่ยวข้องกับการตั้งเป้าหมาย ดังนั้นองค์กรหรือบริษัทต้องมีเป้าหมาย นอกเหนือจากนั้นคุณมีวิธีการบางอย่างในการควบคุมการทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยผ่านการตัดสินใจและวิเคราะห์ปรับเปลี่ยนให้ทุกอย่างดำเนินการไปอย่างถูกทิศทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ และ ข้อมูลส่วนใหญ่ที่องค์กรหรือบริษัทนำมาใช้ในการพิจารณาคือ “งบประมาณ(Budget)”
งบประมาณคืออะไร?
งบประมาณ(Budget) คือ แผนเบ็ดเสร็จ ซึ่งแสดงออกในรูปตัวเงินแสดงโครงการดำเนินงานทั้งหมดในระยะหนึ่ง รวมถึงการกะประมาณการบริหารกิจกรรม โครงการและค่าใช้จ่าย ตลอดจนทรัพยากรที่จำเป็นในการสนับสนุน การดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
กล่าวง่ายๆ งบประมาณเป็นวิธีการเชิงปริมาณในการวัดว่าเรากำลังจะทำอะไร นี่คือสิ่งที่อยู่ในขั้นตอนการวางแผน เมื่อวางแผนเสร็จสิ้น ก็จะเริ่มดำเนินการตามแผน และวัดผลลัพธ์ โดยพื้นฐานตัวชี้วัดว่าการดำเนินการเป็นไปด้วยดีหรือไม่ เกิดปัญหาระหว่างดำเนินการหรือเปล่า คือการเปรียบเทียบ”งบประมาณ” ว่ามีการใช้จ่ายเกินงบประมาณหรือไม่ จะสามารถมองได้ว่าเรามาถูกทางหรือไม่ ต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่อย่างไร เพื่อให้ทันท่วงที และเพื่อการบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่างบประมาณ และการบัญชีเป็นส่วนสำคัญ ตั้งแต่ กระบวนการวางแผน การควบคุม จนถึงกระบวนการสุดท้ายการตัดสินใจ
เช่นบริษัทต้องการขาย หรือการต้องการสร้างรายได้
- ความต้องการสร้างรายได้มากขึ้น หรือต้องการยอดขายที่เพิ่มขึ้น นี่คือสิ่งที่เป็นตัวกำหนดเป้าหมายของบริษัทนี้ ซึ่งยอดขายหรือรายได้ก็จะแสดงตัวเลขที่ชัดเจนที่ตั้งไว้
- วิธีการจะบรรลุเป้าหมายจึงทำผ่านการตลาด ผ่านการขาย ผ่านการโฆษณา แต่ละแผนกก็จะนำวิธีการต่างๆมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ควรขายตรงแค่ไหน ขายผ่านออนไลน์หรือไม่ ใช้วิธีโฆษณาอย่างไร ส่งของให้ถึงมือลูกค้าอย่างไร นอกจากวิธีการ ยังต้องคิดถึงงบประมาณที่ต้องใช้ โดยมีการวัดและประเมินการทำงานเป็นช่วงๆตลอดการดำเนินการนั้นคือการ ควบคุม
- ข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่การผลิต ปริมาณการผลิต งบประมาณการผลิต ยอดขายหรือรายได้หลังการขาย วิธีการขาย และงบประมาณที่ทุ่มไปกับ การตลาด การโฆษณา งบประมาณ ต้นทุน ยอดขาย รายได้ จะถูกนำมาวิเคราะห์ และประเมิน เพื่อการช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหารทันท่วงที เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น จนบรรลุสู่เป้าหมายคือยอดขายที่มากขึ้น กับรายได้ที่เพิ่มขึ้น
จะเห็นได้ว่าข้อมูลเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจและการดำเนินการในทุกช่วงการบริหาร จากตัวอย่างดังกล่าวทำให้เห็นว่า ลักษณะข้อมูลทางบัญชีที่ดีและมีประโยชน์ควรมีดังนี้
- มีความถูกต้อง (Accuracy) หมายถึง ข้อมูลที่ดีต้องมีความถูกต้อง มีหลักฐานอ้างอิง มีแหล่งที่มาชัดเจน จึงจะถือว่าเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ (Reliable) ซึ่งจะสามารถช่วยให้การตัดสินใจหรือการทำหน้าที่ใน การบริหารถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากที่สุดด้วย
- ทันเวลา (Timeliness)หมายถึง ข้อมูลที่ดีจะต้องเป็นปัจจุบัน ทันต่อเหตุการณ์และพร้อมใช้ รวมทั้งเป็นข้อมูลที่จัดหาได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถนำมาใช้สำหรับการตัดสินใจได้ทันต่อเวลา และทันต่อความต้องการใช้ข้อมูล
- เกี่ยวข้อง (Relevant)หมายถึง ข้อมูลที่ดีต้องตรงประเด็น และเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องที่จะทำการบริหารจัดการหรือตัดสินใจ นอกจากนี้ข้อมูลจะต้องกะทัดรัด กระชับ และมีจำนวนเพียงพอ แต่ไม่มากเกินความจําเป็น เพราะข้อมูลปริมาณมากๆ อาจเป็นเหตุให้เกิดความสับสนในประเด็นที่กําลังพิจารณาได้
- สม่ำเสมอ (Consistency) หมายถึง ข้อมูลทางการบัญชีที!ดีที!เป็นประโยชน์ต่อการนําไปเปรียบเทียบกัน เพื่อตัดสินใจวิเคราะห์และประเมินทางเลือก ต้องเป็นข้อมูลที!มาจากจัดทำด้วยหลักการบัญชีเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ
- คำนึงถึงต้นทุน (Cost) และผลตอบแทน (Benefit) หมายถึง ข้อมูลที่ดีต้องมีความคุ้มค่ากับการได้มาซึ่งข้อมูล เมื่อมีการจัดหาข้อมูลมาใช้ควรต้องได้รับผลประโยชน์จากข้อมูลนั้นๆให้คุ้มค่าต้นทุนในการจัดหา
“สำหรับนักบัญชีเพื่อการจัดการ หรือการบริหาร นอกจากทักษะการบัญชีการเงินที่แข็งแกร่ง การประยุกต์ใช้ เพื่อการวางแผน การควบคุมและตัดสินใจ เป็นทักษะที่มีความสำคัญมาก หากคุณสามารถเป็นนักบัญชีที่มีทักษะเหล่านี้มากพอคุณสามารถก้าวไปสู่การเป็น นักบัญชีวิชาชีพขั้นสูง (CMA) จนถึงไต่เต้าไปได้จนถึงผู้บริหารระดับสูงของบริษัทได้ทั้งตำแหน่ง COO (Chief Operations Officer) และ CFO (Chief Finance Officer) ด้วยเช่นกัน ฉะนั้นควรหมั่นศึกษาและพัฒนาทักษะของท่านให้พัฒนาและเชี่ยวชาญอยู่เสมอ”
จากบทความใน EP.2 นี้เรายังติดค้าง เกี่ยวกับ เรื่องของต้นทุน และผลตอบแทน ซึ่งใน EP หน้าเราจึงจะมาดูกันว่าเราจะนำเรื่องของต้นทุนและผลตอบแทนมาช่วยในการตัดสินใจในการวางแผน ควบคุมและตัดสินใจได้อย่างไร
ขอบคุณข้อมูลจาก
การบรรยายของ Farhat
https://www.youtube.com/watch?v=vEQu5YJWcK0
http://elearning.psru.ac.th/
รูปภาพจาก
https://www.pexels.com/