ยื่นภาษีร้านค้าออนไลน์ 2022
อาชีพขายของออนไลน์ช่วยสร้างรายได้อย่างดี แถมไม่ต้องลาออกจากงานประจำก็ทำได้ และโดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิค19 ที่ผ่านมา ทำให้อาชีพนี้กลายเป็นอาชีพยอดนิยมของยุคนี้ และเมื่อธุรกิจมีรายได้เป็นของตัวเอง หน้าที่สำคัญที่จะลืมหรือเลี่ยงไม่ได้เลยนั่นก็คือ “หน้าที่การเสียภาษี” บทความนี้จะสร้างความเข้าใจในการจัดการภาษีแบบง่ายๆสำหรับร้านค้าออนไลน์กัน
ขายของออนไลน์ต้องเสียภาษีแบบไหน ?
รายได้จากการขายของออนไลน์นั้นหากไม่ได้มีการเปิดหรือจดทะเบียนในรูปแบบบริษัท จะถือเป็นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องยื่นภาษีเงินได้ประเภทที่ 8 หรือ ม.40 (8) เมื่อมีรายได้เกิน 60,000 บาท (กรณีโสด) หรือมีรายได้เกิน 120,000 บาท (กรณีสมรส) ต่อปี
ในการยื่นภาษีของการของออนไลน์ สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ คือ
- ยืนภาษีกลางปี (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94) ช่วงเดือน ก.ค. – ก.ย. เป็นการสรุปรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีภาษีแรกที่ผ่านมา โดยที่ ค่าลดหย่อน บางรายการจะถูกหักเหลือครึ่งหนึ่งด้วย เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัวจะลดลงจาก 30,000 เหลือ 15,000
- ยื่นภาษีสิ้นปี (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90) ช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. เป็นการสรุปรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา
คิดภาษีอย่างไร?
การคิดภาษีของร้านค้าออนไลน์ จะแบ่งเป็น 2 กรณีดังนี้
- เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีไม่จดทะเบียนเป็นบริษัท ซึ่งโดยส่วนใหญ่ร้านค้าออนไลน์จะอยู่ในประเภทนี้
- เสียภาษีแบบนิติบุคคล ในกรณีจดทะเบียนเป็นบริษัท
หมายเหตุ กรณีที่พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ที่มีรายได้ (รายได้ หมายถึง รายรับจากการขายที่เกิดขึ้น ไม่ใช่กำไร) เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยปัจจุบันยังจัดเก็บอยู่ที่ 7%
• การคิดภาษีร้านค้าออนไลน์กรณีไม่ได้จดทะเบียน คำนวณได้ดังนี้
(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย
• ค่าใช้จ่ายที่นำมาหักได้
- หักค่าใช้จ่ายตามอัตรา 60% สำหรับร้านค้าออนไลน์ที่ซื้อมา ขายไป ไม่ได้ผลิตเอง
- หักค่าใช้จ่ายตามจริง สำหรับร้านค้าที่ผลิตสินค้าเอง แต่กรณีนี้ต้องมีเอกสารที่ต้องใช้ยื่นจำนวนมาก
- หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา คือ คิดภาษี 0.5% กรณีมีรายได้จากการขายของออนไลน์มากกว่า 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาท)
การลดหย่อน และตารางอัตราภาษี
การลดหย่อนภาษี คือ รายการค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่สรรพากรประกาศ(ตามแบบการเสียภาษีบุคคลธรรมดา)ให้นำมาหักลบกับรายได้ เพื่อให้เราคำนวณ รายได้สุทธิ ออกมากและนำไปเปรียบเทียบคิดภาษีกับตารางอัตราภาษี ที่เรามักได้ยินว่า “คำนวณภาษีแบบขั้นบันได” เช่น ค่าใช้จ่ายจากการซื้อกรมธรรม์ประกันต่างๆ
โดยวิธีการคิดมีดังนี้ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย ที่เรียกว่าขั้นบันไดเพราะว่า เมื่อเราได้ รายได้สุทธิ แล้วต้องนำรายได้สุทธินั้นมาเทียบกับกับตารางอัตราภาษี เพื่อดูว่า เราจะเสียภาษีเท่าไร
หมายเหตุ (รายได้สุทธิคือ รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ)
E-Payment สิ่งต้องรู้สำหรับพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์
พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ ที่ไม่ยื่นภาษีจากการขายออนไลน์ อาจโดนตรวจสอบจากสรรพากร ด้วยกฎหมายที่ออกมารองรับให้สถาบันการเงินต้องมีการส่งข้อมูลการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เราเรียกว่า “อีเพย์เมนต์” (E-Payment ) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้จริงแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 ให้กับทางสรรพากรตรวจสอบ ซึ่งจะมีเงื่อนไขที่เข้าข่ายโดนสรรพากรตรวจสอบมีดังนี้
- เมื่อมีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชี 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป ไม่ว่ายอดรวมทั้งหมดจะกี่บาทก็ตาม
- ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน 400 ครั้งขึ้นไป และมียอดเงินรวมกันเกิน 2 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป
ซึ่งเงื่อนไขที่กล่าวมานี้ หากธนาคารพบว่าบัญชีไหนเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งก็มีสิทธิ์ถูกตรวจสอบและทำการส่งข้อมูลให้ทางสรรพากร ดังนั้นไม่ควรหลบเลี่ยงดีที่สุด
เทคนิคการเตรียมตัวก่อนยื่นภาษีสำหรับการขายของออนไลน์
การเตรียมตัว และการวางแผนก่อนยื่นภาษีเป็นสิ่งที่จะต้องทำ เพราะหากในการยื่นภาษีขาดเอกสารหรือทำอะไรผิดขั้นตอนไปเพียงนิดเดียว อาจทำให้เสียเวลา และมีปัญหาในการยื่นภาษีได้ เรามีเทคนิคมาแนะนำดังนี้
- ควรจดบันทึกรายการซื้อขายสินค้า ทำบัญชีรายรับรายจ่ายรายวัน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เราไม่สับสนแล้ว ยังช่วยให้เราจัดการเรื่องเงินได้ง่ายกว่าการทำย้อนหลัง
- เก็บหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการค้า ธุรกรรมทางการเงิน เพราะนอกจากจะช่วยให้เราสามารถตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเมื่อสรรพากรเข้ามาขอตรวจสอบอีกด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่ตรวจสอบพบว่าความถี่และจำนวนเงินโอนเข้าบัญชีเข้าเกณฑ์ภาษีe – Payment ของทุกปี
- แนะนำให้ติดตามข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับภาษีอย่างต่อเนื่อง เพราะเงื่อนไขในแต่ละปีอาจมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะช่วยให้เราจัดการภาษีได้อย่างถูกต้องและไม่มีปัญหาย้อนหลัง
>>>การเสียภาษีอย่างถูกต้อง จะช่วยให้ไม่ต้องกังวลกับการตรวจสอบของสรรพากร ทำให้สามารถขายของออนไลน์ได้อย่างสบายใจ สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มือใหม่อย่าคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ให้คิดถึงข้อดีของการเสียภาษีที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงเตรียมวางแผนการยื่นภาษี และวางแผนลดหย่อนภาษี เพื่อจะได้นำมาคิดคำนวณภาษีอย่างถูกต้องไม่ผิดพลาด<<<
ที่มา https://www.muangthai.co.th/en/article/tax-ecommerce
https://www.page365.net/all-articles/taxforonlineshop
รูปภาพ https://www.pexels.com/