งบกระแสเงินสด

“เป็นที่ทราบกันดีว่า งบกระแสเงินสดให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสดของกิจการ”

ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินอย่างมากมาย เช่น ใช้ในการประมาณความสามารถของฝ่ายบริหารของกิจการ ในการก่อให้เกิดเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในอดีต (Backward Looking Information) ตลอดจนใช้พยากรณ์กระแสเงินสดรับและกระแสเงินสดจ่ายในอนาคต (Forward Looking Information) รวมถึงการใช้งบกระแสเงินสดประกอบการวิเคราะห์การเติบโตของกิจการ

งบกระแสเงินสดคืออะไร?

งบกระแสเงินสดคือ รายงานที่แสดงการเปลี่ยนแปลงของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเพื่อแสดงการได้มาและใช้ไปของเงินสด โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนคือกิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุนและกิจกรรมจัดหาเงิน

วัตถุประสงค์หลักของงบกระแสเงินสด!!

วัตถุประสงค์หลักของงบกระแสเงินสด คือ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงินสด ไม่ว่าจะเป็นการรับ การจ่าย เงินสดของกิจการที่เกิดขึ้นระหว่างงวด ทำให้เข้าใจสภาพคล่องขององค์กรได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังสามารถตอบคำถามสำคัญเหล่านี้ได้ด้วย

  1. เงินสดมาจากไหนในระหว่างงวด
  2. ในงวดนี้ได้มีการใช้เงินสดไปเท่าใด
  3. ยอดคงเหลือของเงินสดมีการเปลี่ยนแปลงไปเท่าใด
รายการในงบกระแสเงินสดประกอบด้วย 3 ส่วนดังนี้
  1. กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Cash Flow From Operation)

เป็นกระแสเงินสดที่เกิดจากกิจกรรมหลักของธุรกิจ หรืออาจพูดง่าย ๆ ได้ว่า กระแสเงินสดจากการทำมาค้าขายของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น การซื้อวัตถุดิบ, การขายสินค้า รวมถึงเงินเดือนของพนักงาน ก็จะรวมอยู่ในกระแสเงินสดจากการดำเนินงานทั้งหมด

  • โดยทั่วไปแล้ว หากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นบวก ก็หมายความว่าบริษัทมีเงินสดจากการขายสินค้าและบริการ มากกว่าเงินสดที่จ่ายออกไป
  • ในกรณีที่ติดลบ นั่นก็หมายความว่าบริษัทมีรายจ่ายที่เป็นเงินสดในการดำเนินงาน เช่น ค่าวัตถุดิบหรือค่าจ้างพนักงาน มากกว่าเงินสดที่ได้รับจากการขายสินค้าในช่วงเวลานั้นนั่นเอง
  1. กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน (Cash Flow From Investing)

เป็นกระแสเงินสดที่แสดงให้เห็นถึงการได้มา หรือจ่ายออกไปจากการซื้อหรือขายสินทรัพย์ระยะยาวและเงินลงทุนอื่น ๆ เช่น การซื้อตึกหรืออาคาร เพื่อใช้เป็นสำนักงานของบริษัท รวมถึงการควบรวมกิจการก็จะรวมอยู่ในงบส่วนนี้ด้วยเช่นกัน

  • โดยส่วนใหญ่แล้ว หากกระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน “ติดลบ” นั่นหมายความว่าบริษัทกำลังนำเงินไปลงทุน เพื่อขยายกิจการเพิ่ม แม้การลงทุนเพิ่มเติมอาจทำให้บริษัทเติบโตได้ อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป เพราะฉะนั้นเราจึงควรติดตามว่าผลตอบแทนที่ได้นั้น คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปหรือไม่
  • ในทางตรงกันข้าม หากกระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุนมีค่าเป็นบวก ก็จะหมายถึงการที่บริษัทได้เงินสดจากการขายทรัพย์สินออกไป เช่น อาคารสำนักงาน เป็นต้น การที่บริษัทต้องขายทรัพย์สินออกไป ก็อาจจะบอกได้ว่าบริษัทเริ่มจะไม่มีการเติบโตแล้ว หรือสภาพคล่องกำลังมีปัญหาอย่างหนัก ก็เป็นไปได้เช่นกัน
  1. กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน (Cash Flow From Financing) คือ กระแสเงินสดที่เกี่ยวกับการจัดหาเงินของบริษัท เช่น การกู้ยืมจากนักลงทุน, การจ่ายปันผลให้นักลงทุน, การซื้อหุ้นคืน
  • หากตัวเลขเป็นบวก อาจหมายความว่าบริษัทมีการหาเงินเข้าบริษัทมากขึ้น เช่น จากการกู้ยืมธนาคาร, การออกหุ้นกู้ และการขอเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้น
  • หากตัวเลขเป็นลบ นั่นหมายความว่าบริษัทกำลังจ่ายมากกว่าเงินที่ได้รับตัวอย่างของกระแสเงินสดจากการจัดหาเงินที่เป็นลบ เช่น การคืนเงินต้นเงินกู้, การจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น รวมถึงการซื้อหุ้นคืน

การจัดทำงบกระแสเงินสด

ในการจัดทำงบกระแสเงินสดนั้นอาศัยข้อมูลจากหลายแหล่ง ได้แก่

  1. งบแสดงฐานะการเงินเปรียบเทียบ
  2. งบกำไรขาดทุนในงวดปัจจุบัน
  3. ข้อมูลรายการค้าจากบัญชีแยกประเภท
โดยขั้นตอนในการจัดทำงบกระแสเงินสด แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 คำนวณยอดเงินสดที่เปลี่ยนแปลงไป คือการหาผลต่างยอดเงินสดต้นงวดและปลายงวด โดยอาศัยข้อมูลจากงบแสดงฐานะการเงินเปรียบเทียบ

ขั้นตอนที่ 2 คำนวณกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรม กระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน แสดงถึงความสามารถในการดำเนินงานของกิจการ โดยไม่พึ่งพาแหล่งเงินทุนภายนอกโดยทั่วไปกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานเป็นผลมาจากรายการที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณกำไรสุทธิของกิจการ

กระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงานสามารถเลือกคำนวณได้จาก 2 วิธี คือ

  • วิธีทางตรง การนำกำไรสุทธิ มาตัดรายการรายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงินสด และรายการค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงินสดออก
  • วิธีทางอ้อม การนำรายการปรับปรุงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณหากระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน ได้แก่ รายการบวกและรายการหัก ทั้งนี้เพื่อกระทบยอดจากกำไรสุทธิให้กลายเป็น กระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน ดังนั้น วิธีทางอ้อมจึงสามารถเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วิธีกระทบยอด(Reconciliation Method) นั่นเอง

โดยในทางปฏิบัติแล้ววิธีที่ใช้แพร่หลายคือ วิธีทางอ้อม ซึ่งได้รับความนิยมทั้งในประเทศแลต่างประเทศ

ขั้นตอนที่ 3 คำนวณกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมลงทุน กระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมลงทุนแสดงให้เห็นถึงจำนวนเงินที่กิจการได้จ่ายไปในการซื้อทรัพยากรต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดรายได้และกระแสเงินสดในอนาคต โดยมีความเกี่ยวข้องกับการได้มา และการจำหน่ายสินทรัพย์ระยะยาวและเงินลงทุนอื่น (ที่ไม่รวมอยู่ในรายการเทียบเท่าเงินสด) เช่น เงินลงทุนในหลักทรัพย์เผื่อขาย เงินลงทุนทั่วไป เงินลงทุนในบริษัทร่วม และเงินลงทุนในบริษัทย่อย เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 4 คำนวณกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมจัดหาเงิน กระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมจัดหาเงินช่วยในการคาดคะเนสิทธิเรียกร้องในกระแสเงินสดในอนาคตของผู้ให้เงินทุนแก่กิจการ เช่น การกู้ยืมและการช าระคืนหนี้สิน การเพิ่มทุนและการจ่ายเงินปันผล ซึ่งจะเป็นกระแสเงินสดที่ช่วยสนับสนุนการสร้างความเจริญเติบโตให้กับกิจการ

.

นอกจากนี้กิจการต้องแสดงกระแสเงินสดจาก ดอกเบี้ยรับ ดอกเบี้ยจ่าย และเงินปันผลรับ แยกเป็นรายการต่างหากและจัดประเภทแต่ละรายการเป็นกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน กิจกรรมลงทุน หรือกิจกรรมจัดหาเงินในแต่ละงวดบัญชีอย่างสม่ำเสมอ

“ทั้งหมดนี้อาจสรุปได้ว่า “งบกระแสเงินสด” เป็นตัวช่วยในการบอกเราว่าบริษัทหาเงินได้เท่าไร หามาด้วยวิธีไหน แล้วมีการนำเงินสดไปใช้จ่ายกับอะไรบ้าง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือช่วยให้เรารู้สภาพคล่องของบริษัทนั่นเอง…”

“ซึ่งหากเราเข้าใจ และนำไปใช้วิเคราะห์ร่วมกับงบกำไรขาดทุน และงบดุล ก็จะทำให้เราเห็นภาพของบริษัทได้ชัดเจนยิ่งขึ้น”