Hybrid Working…New Normal สู่ Next Normal
เมื่อทำงานที่บ้านกันมานาน ความรู้สึกของการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศก็คงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป พนักงานจำนวนไม่น้อยที่เริ่มคุ้นชินกับการ Work from Home และสะดวกใจจะทำงานที่บ้านมากกว่า…แล้วองค์กรจะปรับตัวอย่างไร ให้ถูกใจพนักงาน โดยยังคงบรรลุเป้าหมายขององค์กรได้…Hybrid Working อาจเป็นคำตอบ
จากบทความครั้งก่อนเรื่อง จุดเปลี่ยนองค์กร กับการทำงานหลังยุค COVID-19 ได้มีการกล่าวถึงการทำงานแบบ Work from Anywhere ไปแล้ว นั่นก็คือการทำงานแบบ Hybrid Working เป็นการทำงานแบบมีความยืดหยุ่น พนักงานสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ แบบ Remote Working โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อมต่อการทำงานร่วมกับทีมจากสถานที่ต่างกัน หรือจะสลับกันเข้าออฟฟิศ พนักงานคนไหนหรือทีมไหนอยากเข้าออฟฟิศก็แจ้งได้เลย แต่ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาออฟฟิศทุกวันเหมือนแต่ก่อนแล้ว
.
การทำงานแบบ Hybrid Working แพร่หลายมาสักระยะหนึ่งแล้วทางฝั่งอเมริกาและยุโรปโดยเฉพาะองค์กรด้านเทคโนโลยี เนื่องจากระบบการทำงานและเทคโนโลยีการเชื่อมต่อค่อนข้างเอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางส่วนก็ยังคงกังวลกับประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงานแบบ Hybrid อยู่บ้าง เนื่องจากไม่สามารถควบคุมการทำงานของเหล่าพนักงานได้ตลอดเวลางาน แต่เมื่อมีการพร่ระบาดของไวรัส องค์กรต้องให้พนักงาน Work from Home อย่างเลี่ยงไม่ได้ บางองค์กรใช้วิธีให้พนักงานเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศสลับกับทำงานที่บ้าน ทำให้การทำงานแบบ Hybrid กลายเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรในยุค New Normal และกำลังกลายเป็นวิธีการทำงานที่หลาย ๆ องค์กรเริ่มนำมาใช้ในยุค Next Normal เช่นกัน เพราะหลายองค์กรเล็งเห็นแล้วว่า การทำงานแบบ Hybrid นั้น สามารถนำมาใช้ได้จริงโดยประสิทธิภาพและประสิทธิผลของผลการปฏิบัติงานนั้นไม่ได้ลดลงจนกระทบกับภาพรวมมากนัก และหาแนวทางแก้ไขจุดบกพร่อง จนสามารถนำมาใช้เป็นวิถีการทำงานรูปแบบใหม่ได้โดยไม่กระทบต่อผลประกอบการขององค์กร
.
Apple บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกทำงานกันแบบ Hybrid โดยให้พนักงานเข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 3 วัน สลับกับ Remote Working หรือหากทีมไหนจำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ 5 วัน ก็สามารถทำได้เช่นกัน และยังมีนโยบายให้พนักงาน Remote Working 2 สัปดาห์ต่อปี ให้พนักงานได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว ต้องการเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงาน หรือด้วยเหตุผลอื่น ๆ แต่ก็ต้องขออนุมัติจากหัวหน้าก่อน อย่างไรก็ตาม บริษัทอย่าง Apple ก็ยังได้รับผลกระทบจากการทำงานแบบ Hybrid นั่นคือ ความสัมพันธ์ในที่ทำงานเริ่มห่างเหินกัน กิจกรรมที่เคยทำร่วมกันหายไป ขาดบรรยากาศ ความคิดสร้างสรรค์ และขาดการสร้าง Community ร่วมกัน
.
ไม่เพียงแค่ Apple เท่านั้น บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายแห่ง เดินหน้าปรับรูปแบบการทำงานให้เป็น Hybrid Working ไปตาม ๆ กัน เช่น Google Facebook Uber หรือบริษัทอย่าง Salesforce และ Twitter ที่อนุญาตให้พนักงานสามารถ Remote Working ได้ 100% นี่ไม่ใช่ข้อบังคับที่พนักงานทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม แต่หลายองค์กรพยายามเข้าใจพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปและนำเสนอแนวทางให้พนักงานพึงพอใจ ถือเป็นการปรับตัวให้เข้ากับยุค Next Normal ได้เป็นอย่างดี
.
นอกจาก Hybrid Working จะเป็นทางเลือกให้พนักงานมีอิสระในการทำงาน และพนักงานแต่ละคนสามารถเลือกแนวทางการทำงานที่เหมาะสมได้ด้วยตัวเองแล้ว Hybrid Working ยังสามารถดึงดูดพนักงานรุ่นใหม่ ๆ ให้มาร่วมงานด้วย เพราะจะสอดคล้องกับการพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่เป็นตัวของตัวเอง รักอิสระ ไม่ชอบการถูกตีกรอบอยู่ในความเข้มงวด และสนใจในเทคโนโลยีอยู่เสมอ รวมถึงการปรับปรุงออฟฟิศเพื่อรองรับการทำงานแบบ Hybrid จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในระยะยาวได้ เช่น ค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าทำความสะอาด แต่ยังคงมีข้อเสียที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ก็คือ ความสัมพันธ์ที่อาจห่างเหินกันไปของเหล่าพนักงาน เนื่องจากเวลาพบปะไม่ตรงกัน กิจกรรมน้อยลง บางคนที่เคยทำงานเข้าขากันได้ดีอาจทำงานได้ไม่เต็มที่เพราะขาดเพื่อนคู่คิด ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็ยังเป็นส่วนที่ต้องการการแก้ไข เพราะความสัมพันธ์อันดีของทีมงานเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนองค์กร เป็นหน้าที่ของเหล่า HR ที่จะต้องวางแผนรักษาความสัมพันธ์ของคนในองค์กรร่วมกับการทำงานแบบ New Normal สู่ Next Normal แล้วหละค่ะ 😂
.
References :
https://www.codeskworkplace.com/what-is-hybrid-working/
https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/salary-man/hybrid-working.html
https://www.brandbuffet.in.th/2021/06/apple-and-big-tech-company-hybrid-workplace-policy/