การเก็บรักษาใบกำกับภาษี และบทกำหนดโทษ

ใบกำกับภาษี ถือเป็นเอกสารหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งของระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่ต้องจัดทำ และออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือการให้บริการ นอกจากนั้นผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องจัดทำสำเนาใบกำกับภาษี และเก็บรักษาสำเนาใบกำกับภาษีไว้ ณ สถานประกอบการ หรือสถานที่อื่นที่อธิบดีกำหนด ในบทความนี้เราจึงนำการจัดเก็บรักษาใบกำกับภาษี และบทกำหนดลงโทษ มาให้ได้ศึกษาเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายเนื่องจากโทษตามกฎหมายและค่าปรับต่างๆที่จะตามมา

การเก็บรักษาใบกำกับภาษี ตามข้อกำหนดของสรรพากร

  • ใบกำกับภาษี และสำเนาใบกำกับภาษี ให้เก็บไว้ ณ สถานประกอบการที่จัดทำใบกำกับภาษี หรือสถานที่อื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ได้จัดทำใบกำกับภาษี และในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการให้เก็บรักษาใบกำกับภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องเก็บรักษาอยู่ในช่วงระยะเวลาที่เลิกประกอบกิจการต่อไปอีก 2 ปี

บทกำหนดโทษ

  1. ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ไม่จัดทำใบกำกับภาษี หรือสำเนาใบกำกับภาษี หรือจัดทำแล้วไม่ส่งมอบให้ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องเสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่า ของภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษี
  2. ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษี ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ โดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามกฎหมายต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
  3. ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ หรือใบแทนเอกสารดังกล่าว โดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่3 เดือนถึง 7 ปีและปรับตั้ง แต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท และต้องเสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่ าของภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษี
  4. ผู้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ โดยไม่มีสิทธิออกเอกสารดังกล่าวตามกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท และต้องเสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ และเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย นอกจากนั้น จะต้องรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่แสดงในใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้
  5. ผู้ประกอบการโดยเจตนานำใบกำกับภาษีปลอม หรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท และต้องเสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษี และเสียเบี้ยปรับ 1 เท่า ฐานยื่นภาษีซื้อไว้เกินและเสียภาษีคลาดเคลื่อน และเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ

ข้อมูลเกี่ยวกับทางกฎหมายอาจจะดูเข้าใจยากสักหน่อย ดังนั้นถ้ากิจการหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ข้อกำหนดในสิทธิ และการจัดทำใบกำกับภาษีในรูปแบบต่างๆ ให้เข้าใจชัดเจน รวมถึงจัดทำ และจัดเก็บรักษาได้ตามสรรพากรกำหนด ความกังวลเรื่องความผิดพลาดที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย เนื่องจากโทษตามกฎหมายและค่าปรับต่างๆที่จะตามมาก็คงหมดไปอย่างแน่นอน…

ที่มา https://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/ebook/taxinvoice.pdf

รูปภาพ
https://www.pexels.com/