คนไทยพร้อมก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล…

จากข้อมูลของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,051 คน (โดยการสำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 13-18 พฤษภาคม 2565 เรื่อง “คนไทยกับโลกดิจิทัล” พบว่า ส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันในการติดต่อสื่อสาร พูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ โซเชียลมีเดียมากที่สุด ร้อยละ 79.96 รองลงมาคือชำระเงินแบบดิจิทัล ฝาก ถอน โอน จ่าย ร้อยละ 78.44

โดยหากเปรียบเทียบก่อนและเมื่อมีโควิด-19

  • การใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมีมากขึ้น ร้อยละ 76.97
  • โดยจากกลุ่มตัวอย่างมองว่า “โลกดิจิทัล” ไม่ได้สร้างความลำบากและวุ่นวาย ร้อยละ 53.28
  • ในโลกออนไลน์เคยพบปัญหาการส่งต่อเฟคนิวส์ คลิปหรือข้อมูลความเชื่อผิด ๆ มากที่สุด ร้อยละ 82.40
  • รองลงมาคือมิจฉาชีพออนไลน์ หลอกให้โอนเงิน ร้อยละ 63.84

วิธีการปรับตัวให้เข้ากับโลกดิจิทัล คือ

  • ต้องมีวิจารณญาณในการใช้เทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ร้อยละ 71.81
  • สิ่งที่คาดหวังโลกดิจิทัลสำหรับคนไทย คือ ใช้งานได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ระบบไม่ล่ม ไม่ติดขัด ร้อยละ 70.00
  • รองลงมาคือ คนไทยเข้าถึงโลกดิจิทัลอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ร้อยละ 61.52
  • ในภาพรวมประชาชนพร้อมแล้วกับการเป็นคนไทยในโลกดิจิทัล ร้อยละ 89.30

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า รัฐบาลต้องการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล คนไทยก็ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากขึ้นและพร้อมเข้าสู่โลกดิจิทัลสูงถึงร้อยละ 89 แต่ปัญหาที่พบและพบอย่างต่อเนื่อง คือ เฟคนิวส์ และมิจฉาชีพออนไลน์ต่าง ๆ ดังนั้น ในการวางรากฐานด้านดิจิทัลนอกจากนโยบายและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว การใช้กฎหมายเกี่ยวกับดิจิทัลอย่างเข้มงวดจึงเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ นอกจากนี้ต้องเน้นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย เข้าถึงได้เท่าเทียมกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้คนไทยทุกคนเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างมีคุณภาพและเสมอภาค

ดร.เอื้ออารี จันทร หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบการเรียนรู้ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ให้ความเห็นว่า จากการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการอภิปรายกลุ่มและการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน 15 คน พบว่า องค์ประกอบที่สำคัญของการเป็น

“คนไทยในโลกดิจิทัล” มี 3 องค์ประกอบ คือ

  1. ด้านข้อมูล มุมมองผู้เสพ ต้องเสพอย่างมีสติ กลั่นกรอง เลือกใช้ข้อมูล จัดลำดับความสำคัญ มุมมองของการเป็นผู้สร้าง ต้องสร้างไมโครคอนเทนต์ ข้อมูลสั้น กระชับ เป็นปัจจุบันและตรงเป้าหมาย
  2. ด้านเครื่องมือ เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้เกิดการพลิกโฉมการทำงาน การเรียนรู้ และการใช้ชีวิต
  3. ด้านคน หลัง COVID-19 จะยิ่งมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แม้กระทั่งกลุ่มคนที่เคยปฏิเสธการใช้เทคโนโลยี

ความสำคัญของดิจิทัลที่มีผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิต การก้าวให้ทันโลกดิจิทัลกลายมาเป็นหัวเรื่องใหญ่สำหรับใครหลายๆคน แต่ทุกการพัฒนาต้องมีความเหมาะสมในแต่ละกลุ่มวัย และการพัฒนาต้องมุ่งเน้นความรู้ ความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยี อย่างรู้เท่าทันด้วยเช่นกัน

ที่มา https://www.nationtv.tv/news/378874618

รูปภาพ
https://www.pexels.com/